วันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

ความถี่เสียงดนตรีไทยแบบ 7 เสียงแบ่งเท่า


ทฤษฎีบันไดเสียงดนตรีไทยแบบ 7 เสียงแบ่งเท่า
ในประวัติศาสตร์ดนตรีไทยตามคำบอกเล่าทั้งของครูเพลงไทยก็ดีหรือว่านักดนตรีไทยก็ดีนั้น ได้กล่าวไว้ว่าดนตรีไทยนั้นแบ่งลำดับโน้ตในบันไดเสียงออกเป็น 7 เสียงเท่าๆกันในหนึ่งคู่ 8 โดยถ่ายทอดกันมาแบบมุขปาฐะ หรือ สืบทอดกันมาแบบปากต่อปาก สามารถค้นพบเอกสารที่เขียนถึงคำกล่าวอ้างนี้ได้โดยทั่วไปทั้งจากหนังสือที่เกี่ยวกับดนตรีไทยก็ดี หรือว่าข้อมูลในอินเตอร์เน็ตก็ดี โดยมีคำบอกกล่าวมาตั้งแต่ครั้งอดีตกาล 
ต่อมาเมื่อได้มีการเริ่มสนใจศึกษาระบบเสียงดนตรีไทยขึ้นแล้ว ได้มีการค้นพบการศึกษาที่เกี่ยวกับเรื่องระบบเสียงของไทยในอดีตโดยมีการศึกษาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1885 โดย Alexander J. Ellis และ Hipkins โดยมีหลักฐานจาก หนังสือ On the sensation of tone ที่ Hermann Helmholtz เขียน ได้อ้างถึงผลการศึกษาของ Ellis และ Hipkins ในการวัดระบบเสียงดนตรีไทยจากคณะนักดนตรีไทยที่ไปทำการแสดงที่ประเทศอังกฤษในงาน London Inventions Exhibition 1885 โดยได้วัดจากเครื่องที่นำมาจัดแสดงใน South Kensington Musium ซึ่งมีเครื่องดนตรีที่ทำการศึกษาคือ ระนาดเอก, ระนาดทอง, ระนาดเหล็ก, จะเข้ 
ผลการศึกษาในครั้งนั้นจากการเปรียบเทียบค่าระยะห่างระหว่างตัวโน้ตปรากฎว่าไม่ตรงกับทฤษฎี 7 เสียงเท่า ตัวเลขมีค่าเบียงเบนเยอะ แต่ด้วยมีทูตไทยที่ประจำอยู่ในประเทศอังกฤษขณะนั้น คือ พระองค์เจ้าปฤษฎาค์ ได้อธิบายว่าระบบเสียงของดนตรีไทยนั้นแบ่งเป็น 7 เสียงเท่าๆกันใน 1 คู่ 8 ซึ่งมีข้อความกล่าวอ้างถึงดังนี้
(Helmnoltz(1954).p 556) “The King of Siam sent over his Court Band with their instruments to the London Inventions Exhibition 1885, and the Siamese minister obligingly allowed Mr.Hipkins and myself to determine the musical scale. Prince Prisdang told us that the intention was to divide the Octave into 7 equal intervals, each of which would then have 171.43 cents. Hence the following comparison. The scales are given as usual in cents from the lowest note.” 
จากข้อความข้างบนได้กล่าวไว้ว่า ร.5 ได้ส่งคณะนักดนตรีไทยและเครื่องดนตรีไทยมาแสดงในงาน London Inventions Exhibition ในปี ค.ศ. 1885 และได้อนุญาติให้ Mr.Hipkins และ Mr.Alexander John Ellis ทำการวัดระดับเสียงของเครื่องดนตรี โดยได้รับคำแนะนำเรื่องระดับเสียงจากพระองค์เจ้าปฤษฏางค์ว่าดนตรีไทยนั้นมีเจตนาตั้งเสียงกันแบบ 7 เสียงแบ่งเท่า หรืออีกนัยนึงว่าระบบบันไดเสียงที่ใช้ในดนตรีไทย มีระบบแบบ 7 เสียงแบ่งเท่านั้นเอง
หลังจากการศึกษาในครั้งนั้นก็ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับระบบเสียงดนตรีไทยอีกหลายครั้ง เช่น ในปี ค.ศ. 1961-1962 ได้มีนาย David Morton เข้ามาศึกษาระบบเสียงดนตรีไทยด้วยเครื่อง Stroboconn และได้เขียนเป็นกราฟรูปภาพดังนี้
จากตัวอย่างข้างต้นเป็นการศึกษาระบบเสียงดนตรีไทยจากชาวต่างประเทศ สำหรับการศึกษาระบบเสียงดนตรีไทยอย่างจริงจังเริ่มขึ้นระหว่าง ปี ค.ศ. 1967- 1970 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้มีการศึกษาหาระดับความถี่ของเสียงดนตรีไทยขึ้น โดยพระราชทานแก่นายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้มีการทำการศึกษาขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2 โดยเริ่ม ศึกษาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 โดยเลือกวิเคราะห์แต่เฉพาะเครื่องตี(ระนาดเหล็ก) โดยใช้เปรียบเทียบกับเสียงโด (C) สากลเป็นมีความถี่ 523.25 Hz เป็นหลักในการเปรียบเทียบ 
ผลปรากฎว่าไม่มีเสียงโดของระนาดเหล็กของไทยวงไหนที่มีความถี่ตรงกับเสียงโด (C) ของสากลเลยแต่มีความถี่ใกล้เคียงกัน จึงมีผลทำให้ได้ยินเหมือนเป็นเสียงโด (C) เดียวกันนั่นเองผลการศึกษาปรากฎดังตารางข้างล่างนี้
และในเอกสารงานวิจัยในครั้งนั้นยังได้แสดงผลถึงการศึกษาในการออกเก็บข้อมูลในงานภาคสนามเกี่ยวกับเสียงของระนาดทุ้มเหล็กทั้งในกรุงเพทและอีกหลายๆที่ในประเทศไทย ผลของข้อมูลที่ได้มานั้นสรุปได้ว่าเครื่องดนตรีระนาดเหล็กของแต่ละที่นั้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับระนาดเหล็กของอีกพื้นที่ผลปรากฎว่ามีระดับเสียงที่ไม่เท่ากันและในการศึกษาช่วงเสียงของเครื่องระนาดเหล็กของแต่ละพื้นที่ ระยะห่างระหว่างโน้ตในหนึ่งคู่ 8 ของแต่ละเครื่องก็ยังมีระยะห่างของแต่ละโน้ตไม่เท่ากันตามทฤษฎี 7 เสียงแบ่งเท่าอีกด้วย โดยการวิจัยในครั้งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเน้นเพียงการศึกษาในเครื่องระนาดเหล็กเป็นหลัก เพราะว่าตามทฤษฎีดนตรีไทยแล้วระนาดเหล็กเป็นเครื่องที่ใช้สำหรับเทียบเสียงหรือตั้งเสียงของวงดนตรีไทยในแต่ละสำนัก
ปี ค.ศ. 1973 ได้มีงานวิจัยของ สมชัย ทยานยง เรื่องเสียงฮาร์โมนิคส์ของเครื่องดนตรีไทย (Harmonics of Thai Music) โดยมีการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย โดยใช้เครื่อง Oscilloscope ในการวัดเสียงเครื่องดนตรีเพื่อทราบลักษณะโครงสร้าง และได้ศึกษาเกี่ยวกับระดับเสียงของขั้นคู่ในดนตรีไทยด้วยว่าเสียงฮาร์โมนิคมีผลต่อเสียงอื่นในระบบเสียงของดนตรีไทยอย่างไร และเมื่อเกิดขึ้นแล้วมีความเข้ากันได้หรือไม่
ต่อมาในปีค.ศ. 1997 ได้มีรายงานการวิจัยของ ดร.สุกรี เจริญสุข เกี่ยวกับการวิจัยเพื่อตั้งระดับเสียงและบันไดเสียงมาตรฐานของดนตรีไทยซึ่งออกสำรวจภาคสนาม โดยเดินทางไปในชุมชนบ้านดนตรี จำนวน 30 ที่ และบ้านช่างทำเครื่องดนตรีจำนวน 35 บ้าน โดยกระทำการสัมภาษณ์ประวัติของแต่ละบ้านและได้บันทึกเสียงของวงและเครื่องดนตรีในแต่ละที่ โดยได้กระทำการบันทึกทั้งเป็นเอกสารและความเห็นของบุคคล พร้อมทั้งถ่ายภาพเก็บไว้เป็นหลักฐาน โดยในภายหลังได้นำเอาเสียงของเครื่องดนตรีที่บันทึกไว้ในแต่ละที่มาศึกษา โดยใช้การอ้างอิงความถี่เสียงจากโน้ต ลา (A) จากทางสากลมีในระดับความถี่เท่ากับ 440 Hz โดยตั้งให้เป็นระดับเสียงหลักในการศึกษาเปรียบเทียบกับระดับเสียงเครื่องดนตรีไทย ซึ่งผลสรุปจากงานวิจัยในครั้งนั้นได้ผลดังนี้ (สุกรี เจริญสุข 2540,p132)
1. ระดับเสียงหลักของจากข้อมูลที่ได้จากภาคสนาม โดยดนตรีไทยที่ได้ไปทำการ
ศึกษาวิเคราะห์มีระดับเสียงความถี่หลักของโน้ต ลา (A) อยู่ที่ระหว่าง 400 - 455 Hz
2. ระดับความถี่ของโน้ตลา (A) ที่มีความนิยมตั้งเสียงอยู่ที่ 420 - 435 Hz โดยแบ่งเป็น โน้ตลา (A) ในความถี่ที่ 425 Hz มีผู้นิยมนำมาใช้ตั้งเสียงมากที่สุด ซึ่งมีจำนวน 46 ชิ้น โดยแบ่งเป็นพบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 23 ชิ้น, ราชบุรี 14 ชิ้น, เพชรบุรีจำนวน 2 ชิ้น, อยุธยา 1 ชิ้น และที่สุพรรณบุรี 1 ชิ้น
3. ระดับความถี่ของโน้ตลา (A) ที่มีความนิยมนำมาตั้งเสียงรองลงมาจากโน้ตลา (A) ความถี่ที่ 425 Hz คือ โน้ตลา (A) ความถี่ที่ 430 Hz โดยมีจำนวน 16 ชิ้น แบ่งเป็นพบในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร 14 ชิ้น, อยุธยา 1 ชิ้น และที่สุพรรณบุรีจำนวน 1 ชิ้่น
4. ระดับความถี่ของโน้ตลา (A) ที่ความถี่ 420 Hz มีความนิยมนำมาตั้งเสียงเป็นลำดับสาม โดยพบจำนวน 13 ชิ้น แบ่งเป็น พบในกรุงเทพมหานคร 3 ชิ้น, สมุทรสงคราม 7 ชิ้น, สุพรรณบุรี 2 ชิ้น และที่อยุธยาจำนวน 1 ชิ้น
5. ระดับความพี่ของโน้ตลา (A) ที่ความถี่ 435 Hz มีความนิยมนำมาตั้งเสียงเป็นอันดับที่ 4 โดยพบเป็นจำนวน 11 ชิ้น แบ่งเป็นพบในกรุงเทพมหานคร 10 ชิ้นและในอยุธยาจำนวน 1 ชิ้น 
สำหรับกลุ่มที่เหลือเป็นการตั้งเสียงแบบกระจัดกระจายกัน ไม่สามารถนำมาจัดอยู่ในกลุ่มได้ โดยการตั้งเสียงของแต่ละที่ขึ้นอยู่กับ ผู้ตั้งเสียงเป็นศิษย์ใคร
จากผลการศึกษาของ ดร.สุกรี เจริญสุข ส่วนใหญ่เป็นทำให้พบว่าจากทฤษฎีดนตรีไทยในระบบเสียงแบบ 7 เสียงแบ่งเท่านั้น ในทางปฎิบัตินั้นไม่มีเครื่องดนตรีชิ้นไหนตั้งเสียงได้ตรงกับระบบ 7 เสียงแบ่งเท่าเลย อาจะเป็นเพราะเทคโนโลยีในการตั้งเสียงสำหรับดนตรีไทยนั้นยังไม่ได้รับการพัฒนา ในขณะเดียวกันการตั้งเสียงของเครื่องดนตรีไทยก่อนออกแสดงในสมัยก่อนนั้นสำหรับคนไทยแล้วไม่ค่อยให้ความสำคัญเทียบเท่ากับชาวตะวันตก ทำให้ระบบเสียงที่เป็นมาตรฐานของดนตรีไทยแบบ 7 เสียงแบ่งเท่านั้นยังไม่มีมาตรฐานซะทีเดียว และยังไม่มีผู้ใดสามารถระบุความถี่เสียงของโน้ตในระบบเสียงแบบ 7 เสียงแบ่งเท่าได้ ดังเช่นที่มีในดนตรีตะวันตกซึ่งสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป จึงทำให้เป็นการยากในการที่ผู้ที่สนใจอยากจะเล่นหรือนำเสียงดนตรีไทยไปประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆและสามารถเข้าถึงอรรถรสของดนตรีไทยได้เพราะด้วยความท่ีไม่มีมาตรฐานนั่นเอง
ผลการศึกษาระบบเสียงดนตรีไทยที่เกิดขึ้นล่าสุดเป็นของ ดร.สมชาย รัศมี ซึ่งได้ทำการศึกษาและเสนอเป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกในปี ค.ศ. 2012 โดยจากการศึกษานี้ได้ใช้ ค่าอ้างอิงโน้ตหลักเป็นโน้ต ลา (A) ซึ่งได้ปรับระดับเสียงของดนตรีไทย โดยวิเคราะห์จากโน้ตลา (A) ของดนตรีสากลที่มีความถี่อ้างอิงอยู่ที่ A= 440 Hz โดยผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษานั้นมีดังนี้
โน้ตลำดับที่  1 มีความถี่  = 440 Hz
โน้ตลำดับที่  2 มีความถี่  = 486 Hz
โน้ตลำดับที่  3 มีความถี่  = 536 Hz
โน้ตลำดับที่  4 มีความถี่  = 592 Hz
โน้ตลำดับที่  5 มีความถี่  = 654 Hz
โน้ตลำดับที่  6 มีความถี่  = 722 Hz
โน้ตลำดับที่  7 มีความถี่  = 796 Hz
โน้ตลำดับที่  8 มีความถี่  = 880 Hz
สำหรับระบบเสียงแบบ 7 เสียงแบ่งเท่านั้น ผู้ที่มีอิทธิพลที่สุดที่ระบุให้ดนตรีไทยนั้นมีระบบเสียงแบบ 7 เสียงแบ่งเท่านั้นก็คือ พระเจนดุริยางค์ หรือชื่อเดิม Peter Feit (สุกรี เจริญสุข(2003).p27) โดยในวันที่ 23 มิถุนายน 1956 พระเจนดุริยางค์ได้เขียนหนังสือชื่อ “ทฤษฎีการดนตรีเกี่ยวกับเสียงและเครื่อง” ขึ้น และตีพิมพ์ในนามกองดุริยางค์กรมตำรวจ รวมทั้ง ยังได้มีส่วนร่วมในการจัดทำโน้ตเพลงไทยในชุด “เพลงทำขวัญ เพลงโหมโรงเย็น” ของกรมศิลปากร ซึ่งเป็นพระราชดำริของ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยเริ่มทำตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1930 ซึ่งพระเจนดุริยางค์ได้ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการจดโน้ตเพลง และในปี 1933 งานก็ได้หยุดชะงักลง และเริ่มต้นใหม่อีกเป็นครั้งที่ 2 หลังการการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งได้เริ่มต้นโครงการเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1936 จนถึง ปี 1941 ก็ได้เลิกล้มไปอย่างน่าเสียดาย รวมเพลงที่ได้จดบันทึกไว้มีจำนวนราว 475 เพลง แต่เพลงที่บันทึกไว้ที่ครบทุกแนวเครื่องดนตรีนั้นกลับมีอยู่ประมาณไม่ถึง 100 เพลง ต่อมากรมศิลปากรได้ให้บริษัท J. Thibouville-Lamy & Co. ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นผู้จัดพิมพ์ ซึ่งเอกสารชุด “เพลงทำขวัญ เพลงโหมโรงเย็น”ที่มีการกล่าวถึงระบบเสียงดนตรีไทยแบบ 7 เสียงแบ่งเท่านี้ ได้เป็นเอกสารที่แพร่หลายมากที่สุดและได้กลายเป็นทฤษฎีระบบเสียงดนตรีไทย และทั้งนี้ยังได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับดนตรีไทยเป็นภาษาอังกฤษชื่อหนังสือว่า THAI MUSIC อยู่ในหมวด ของหนังสือ THAILAND CULTURE SERIES No.8 โดยพิมพ์ครั้งแรกในปี 1948 และพิมพ์ครั้งที่ 2 ในปี 1953 โดยมีข้อความดังนี้ 
“As already stated, the Thai diatonic scale, is composed of seven full tones within its octave. These are evenly distributed in equidistant steps and there are no semitones between any of these full tone - steps.”
แปลได้ใจความโดยรวมว่า ระบบบันไดเสียงของไทยสร้างขึ้นมาจาก 7 เสียงแบ่งเท่าในหนึ่งคู่ 8 โดยในแต่ละโน้ตจะมีระยะห่างเท่าๆกัน และไม่มีการแบ่งเป็นครึ่งเสียงในแต่ละโน้ตในระหว่าง 7 เสียงแบ่งเท่า


        จากข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ข้างบนทำให้เราทราบว่าระบบเสียงดนตรีไทยบันไดเสียงแบบ 7 เสียงแบ่งเท่าเป็นอย่างไร ต่อไปนี้จะนำเสนอข้อมูลที่เป็นการทดลองหาความถี่เสียงโดยมีจุดประสงค์เพื่อนำเอาความถี่ที่ได้จากการทดลองไปใช้ในการทดลองจูนเสียงเครื่องดนตรีไทยและเครื่องดนตรีไฟฟ้า มีการทดลองเก็บตัวอย่างเสียงไว้ด้วยเพื่อเอาไปใช้แต่งเพลงประเภทดนตรีทดลองต่อไป
ระนาดทุ้มเหล็ก
Microphone ที่ใช้บันทึกเสียง ยี่ห้อ Neumann รุ่น U89 จำนวน 2 ชิ้น และ 
Microphone ยี่ห้อ AKG รุ่น C414EB จำนวน 1 ชิ้น

หลังจากที่ได้ทำการบันทึกข้อมูลในภาคสนามแล้วผู้ศึกษาได้ทำการปรับเสียงของจะเข้และระนาดทุ้มเหล็ก โดยอิงจากทฤษฎี 7 เสียงแบ่งเท่า และใช้เสียงโด (C) เป็นหลักในการปรับเสียง ซึ่งในกรณีนี้จะปรับเสียงโด (C) ให้เท่ากับเสียงสากลก่อน โดยยึดหลักความถี่เสียงโด (C) ในระบบ Equal Temperament ซึ่งมีค่าเท่ากับ 261.63 Hz แล้วหลังจากนั้นภายในโครงสร้างของระบบเสียงแบบ 7 เสียงแบ่งเท่าจะใช้ทฤษฎีค่า cent มาคำนวน โดยกำหนดให้ระยะห่างระหว่างโน้ตโด (C) 1 คู่ 8 ตั้งแต่โด (C) ต่ำ ไปจนถึง โด (C) คู่เป็นห่างกัน 1200 cent ดังนั้นเมื่อมาเขียนเป็นรูปภาพโครงสร้างความห่างของโน้ตในระบบ Cent จะได้ดังนี้
เมื่อเราทราบโครงสร้างระยะห่างของโน้ตในแต่ละโน้ตทั้ง 7 ตัว ภายในขั้นคู่ 8 แล้วเราสามารถใช้โปรแกรมทางคอมพิวเตอร์คำนวนหาความถี่ของแต่ละโน้ตได้จากการอ้างอิงค่าของโน้ตโด (C) ตัวแรก ซึ่งมีค่าความถี่เท่ากับ 261.63 Hz


เมื่อเรานำมาเปรียบเทียบกับช่วงความถี่ของโน้ตเดียวกันในระบบ equal temperaments 
เมื่อนำความถี่แบบ 7 เสียงแบ่งเท่ามาเขียนบนคีย์เปียโนสำหรับสะดวกในการนำไปใช้งานคอมพิวเตอร์ดนตรีหรือนำไปเปรียบเทียบเป็นมาตรฐานการตั้งเสียงจะได้ดังนี้

ข้อดีของการมีมาตรฐานระดับเสียงแบบ 7 เสียงแบ่งเท่า
ระดับเสียงของดนตรีไทยแบบ 7 เสียงแบบเเบ่งเท่านี้ถือว่าเป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมจากบรรพบุรุษของไทยมาเป็นเวลายาวนาน แต่น่าเสียดายที่ในสมัยก่อนไม่มีผู้ใดสามารถระบุออกมาได้อย่างชัดเจน ซึ่งทำให้ในสมัยนี้เวลาตั้งเสียงในเครื่องดนตรีไทยบางครั้งก็ใช้การอ้างอิงค่าความถี่ของโน้ตในดนตรีสากลทำให้บางครั้ง การตั้งเสียงเครื่องดนตรีไทยแบบนี้หรือการนำเสียงที่ตั้งโดยการอ้างอิงความถี่จากโน้ตสากล นำมาสร้างสรรค์งานเพลงในรูปแบบของ contemporary music ทำให้กลิ่นหรืออรรถรส แบบดนตรีไทยแท้ๆค่อยๆจางหายไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง 
ถึงแม้ว่าเราจะจำแนกจิตวิญญานของดนตรีไทยหรือเอกลักษณ์ของดนตรีไทยออกเป็นส่วนๆเพื่อให้เข้าถึงอรรถรสหรือจิตวิญญานของดนตรีไทยนั้น ในเรื่องของระดับเสียงแบบ 7 เสียงแบ่งเท่านี้อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดของจิตวิญญานหรืออรรถรสที่ว่า แต่ก็ถือได้ว่าเป็นส่วนแบ่งสำคัญใหญ่ๆส่วนหนึ่ง ของจิตวิญญานหรืออรรถรสของดนตรีไทย แต่ด้วยปัญหาในขณะนี้ยังไม่มีผู้ใดสามารถระบุหรือตั้งมาตรฐานของระดับเสียงแบบ 7 เสียงแบ่งเท่าของดนตรีไทยไว้ได้ ทำให้ไม่มีหลักใหญ่ๆเป็นแนวทางในการพัฒนา บางครั้งจึงต้องอ้างอิงเสียงดนตรีในระบบเสียงของตะวันตกเป็นหลัก แต่ถ้าหากเราสามารถพัฒนาดนตรีไทยและสามารถคงเอกลักษณ์ในทางเสียงหรือว่าอรรถรสในดนตรีไทยไว้ได้แล้ว การพัฒนาดนตรีไทยในแบบ contemporary music ก็จะได้อรรถรสในทางดนตรีไทยอย่างชัดเจน ซึ่งเหมือนกับอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษเอาไว้ได้ด้วย 
ผลการศึกษาชิ้นนี้สามารถนำไปใช้อ้างอิงเป็นมาตรฐานระดับเสียงแบบ 7 เสียงแบ่งเท่าของดนตรีไทย ซึ่งค่าที่ได้นั้นคิดโดยอ้างอิงมาจากทฤษฎี 7 เสียงแบบเเบ่งเท่าโดยยึดเสียงโด (C) เป็นหลักเพราะในดนตรีไทยนั้นไม่มีเครื่องหมาย ชาร์ป(#) หรือ แฟลต(b) เหมือนในดนตรีสากล ดั้งนั้นการใช้โน้ตตัวโด (C) เป็นตัวเริ่มต้นในการคิดวิเคราะห์หาคลื่นความถี่มาตรฐานในดนตรีไทยโดยไม่อ้างอิงระดับเสียงจากระบบบ้านหนึ่งบ้านใดหรือว่าระบบเสียงจากสำนักไหนจึงเหมาะสมที่สุดที่จะได้ค่ามาตรฐานตาม แบบทฤษฎีดนตรีไทยระบบ 7 เสียงแบ่งเท่า
ถ้าพิจารณาถึงความหมายของทางในดนตรีไทยทั้ง 7 ทาง คือ ทางเพียงออล่าง, ทางใน, ทางกลาง, ทางเพียงออบน, ทางนอก, ทางกลางแหบและทางชวา จะพบว่าเมื่อเวลาที่บรรเลงและมีการเปลี่ยนทาง นั่นคือเป็นการเลื่อนตำแหน่งของกลุ่มเสียงจากกลุ่มเสียงหนึ่งไปยังอีกกลุ่มเสียงหนึ่ง โดยในกลุ่มเสียงหนึ่งจะมีโน้ตหลักอยู่ในกลุ่มเสียง 5 โน้ต ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าระบบเสียงของดนตรีไทยคือระบบ Move-Do หรือ Relative Pitch คือ สามารถย้ายโน้ตตัวแรกของบันไดเสียงไปไว้ในโน้ตไหนก็ได้ ในระบบเสียงแบบ 7 เสียงแบ่งเท่า ดังนั้นเมื่อมีค่ามาตรฐานของระบบ 7 เสียงแบ่งเท่านี้ คุณสมบัตินี้ตามทฤษฎีดนตรีไทยก็ไม่เปลี่ยนแปลง
ผลประโยชน์จากการศึกษาชิ้นนี้สามารถนำไปใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาสิ่งใหม่ๆในด้านดนตรีไทยทั้งการพัฒนาในเรื่องของมาตรฐานในการผลิตเครื่องดนตรี หรือการเทียบเสียงก่อนขึ้นแสดงดนตรี หรือแม้กระทั่งนำไปเป็นค่าอ้างอิงในการผสมเสียงเครื่องดนตรีหรือตั้งเสียงเครื่องดนตรีระหว่างเครื่องดนตรีไทยและเครื่องดนตรีต่างประเทศเพื่อให้สามารถบรรเลงเข้ากันได้ดีโดยไม่เสียในด้านอรรถรสของระดับในดนตรีไทย หรือไม่ศูนย์เสียหนึ่งในจิตวิญญานหรือกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทยไป 

บรรณานุกรม
Navarat.C(2009).ประวัติย่อ พันเอกพิเศษ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎาค์.วันที่ค้นข้อมูล 9 มีนาคม 2012, จาก เว็ปไซด์พันทิป เว็ปไซด์http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/07/K8075368/K8075368.html
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(1999).การศึกษาค้นคว้าวิจัยเรื่อง ความถี่ของเสียงดนตรีไทย โดยพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์
สุกรี เจริญสุข(2003).เสียงและระบบเสียงดนตรีไทย. กรุงเทพฯ: วิทยาลัยดุริยางศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
กรมศิลปากร(1994).เพลงชุดโหมโรงเย็น ฉบับรวมเครื่อง. กรุงเทพฯ: โครงการจัดตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี(1999). สังคีตนิยมว่าด้วยดนตรีไทย(พิมพ์ครั้งที่2).กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์
มานพ วิสุทธิแพทย์(1990). ดนตรีไทยวิเคราะห์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์
Morton, D. (1976).The Traditional Music of Thailand. University of California Press, Berkeley and Los Angeles
Phra Chen Duriyanga(1953). Thailand Culture series No.8,Thai Music(2 nd ed.). Bangkok: The National culture institute 
Helmholtz, H. (1954).On the sensations of tone.NewYork: Dover Publication
สมชาย รัศมี(2012).มาตรฐานเสียงดนตรีไทย.วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัฒฑิต, มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา






6 ความคิดเห็น:

  1. มีประโยชน์ครับ ผมก็เป็นคนเล่นดนตรีไทย สนใจดนตรีไทย เรียนจบด้านดนตรีไทย และมีความสนใจอย่างยิ่งในเรื่องของระดับเสียง และการเทียบเสียงดนตรีไทย อยากให้คนดนตรีไทยอ่าน และแลกเปลี่ยนความคิดกันเยอะๆ ผ่านบทความนี้ครับผม

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณงานวิจัย และ บทความดีๆ แบบนี้ครับ

    ตอบลบ
  3. เป็นประโยฃน์อย่างยิ่ง ขอบพระคุณครับ

    ตอบลบ
  4. ขอขอบคุณที่เข้าใจในความสำคัญของระบบ 7 เสียงเท่าในดนตรีไทยครับ

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ31 มกราคม 2565 เวลา 01:23

    How to Play Baccarat - Betfair Casino
    If you're new to Baccarat, then you'll understand how to play, as 인카지노 a งานออนไลน์ beginner, and learn the rules and how to play Baccarat. 바카라 사이트

    ตอบลบ
  6. Betfair Live Casino site in Kenya | Lucky Club
    Play a wide range of slots and table games at Betfair, offering generous bonus packages for sports betting, live casino and bingo. Betfair is a top live luckyclub

    ตอบลบ